ผู้ประกอบการมีช่องทางการส่งสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้าได้หลากหลายวิธี นอกเหนือจากลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือรับบริการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการส่งทางไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ต ว่าจ้างบุคคลอื่นขนส่งสินค้า หรือ แม้กระทั่งขนส่งไปให้ลูกค้าด้วยตนเอง ดังนั้นการใช้ยานพาหนะจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจักรยานยนต์ รถยนต์ หรือยานพาหนะอื่น
รถยนต์ที่ใช้ในกิจการ ควรจะ เช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ และควรจะเลือกให้รถยนต์ประเภทใด จึงจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่า ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ละวิธีต่างก็ไม่มีอะไรที่ดีที่สุด และแย่ที่สุด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ การเช่ารถยนต์มาใช้ในกิจการ ผู้เช่าไม่ต้องรับภาระดูแลบำรุงรักษารถยนต์ แต่จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้น ส่วนการเช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ แต่การดูแลบำรุงรักษาก็ต้องรับผิดชอบเอง ต้องคิดลูกคิดดูแล้วว่าคุ้มหรือไม่ สำหรับสิทธิทางภาษี ต่างก็มีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ ต้องเปรียบเทียบเอาเอง นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังมีหน้าที่ทางภาษีมาเกี่ยวข้องเมื่อจ่ายเงินค่า เช่ารถยนต์ ค่าเช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์ สรุปได้ดังนี้
ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เป็นผู้ เช่ารถยนต์ ไม่ว่าจะเช่ารถยนต์เก๋ง รถยนต์บรรทุก หรือยานพาหนะอื่นใด เมื่อจ่ายเงินค่าเช่า จะตอ้งหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าเช่า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่ว่าผู้ให้เช่ารถยนต์จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท ก็ตาม ในประเด็นนี้ หากผู้เช่าที่จ่ายเงินเป็นบุคคลธรรมดา จะมีหน้าที่จะต้องหักภาษีแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่เป็นผู้เช่าจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่หักไม่ได้ มิฉะนั้นตนเองจะต้องรับภาระในภาษีนั้นเอง ส่วนการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้
การหักค่าใช้จ่าย การ เช่ารถยนต์ เช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์มาใช้งาน จะมีการหักรายจ่ายทางภาษีต่างกัน รวมถึงประเภทรถยนต์ที่นำมาใช้ในกิจการด้วย ในกรณีเช่ารถยนต์เก๋ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จะหักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกินเดือนละ 36,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์ประเภทอื่นๆ เช่น ปิกอัพ รถสิบล้อ หรือมากกว่า 10 ล้อ จะหักค่าใช้จ่ายตามค่าเช่าที่จ่ายจริงไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงกรณีเช่าซื้อ ซึ่งเป็นการซื้อขาย ส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเช่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่มีสิทธิ์นำมูลค่าต้นทุนรถยนต์ไปหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวนในปีนั้น แต่จะต้องใช้วิธีหักค่าเสื่อมราคา ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนรถยนต์ โดยหักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะรถยนต์เก๋ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง มูลค่าต้นทุนรถยนต์ที่นำมาคิดคำนวณค่าเสื่อมราคา ให้นำมาคิดคำนวณได้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เท่านั้น กล่าวคือ หักค่าเสื่อมได้ไม่เกินปีละ 200,000 บาท โดยเฉพาะการเช่าซื้อให้หักได้ตามเงินค่างวดที่จ่ายในปีนั้นๆ แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่กล่าวมา สำหรับรถยนต์ประเภทอื่นๆ สามารถนำมูลค่ารถยนต์ที่ชำระหรือฟังชำระทั้งหมด ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท มาคิดคำนวณได้ ไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด
การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์เก๋งหรือรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ เพราะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ภาษีซื้อต้องห้ามดังกล่าว สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ สำหรับการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์ประเภทอื่นๆ ภาษีซื้อที่เกิดขึ้น หรือที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์นั้นๆ เช่น ค่าน้ำมัน ฯลฯ สามารถขอคืนภาษาซื้อได้ ไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด
ครับ การที่จะเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อรถยนต์มาใช้ในกิจการ ภาระภาษีและสิทธิประโยชน์ในทางภาษีจะแตกต่างกัน การคำนึงถึงประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะสูญเสียอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องไตร่ตรองและพิจารณาว่า ใช้วิธีใดจึงจะดีที่สุด สำหรับกิจการของตนเอง
บทความจาก http://www.pl.co.th/